รองเท้ากระเป๋าผ้าทอไทย

ทุกวันนี้งานออกแบบเพื่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เครื่องมือส่งเสริมการตลาดหรือเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรอีกต่อไป แต่คือสิ่งที่ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญในการพัฒนาทุกชิ้นผลิตภัณฑ์ เช่นเดียวกับ Gemio Shoes แบรนด์รองเท้าที่มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์แนว Eco-Friendly ตั้งแต่การคัดเลือกวัสดุ รูปแบบผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงกระบวนการผลิต เพื่อให้รองเท้าหนึ่งคู่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทุกองศา วันนี้ทีมงาน TCDCCONNECT ได้รับโอกาสดีๆพูดคุยกับคุณอภิกษณา เตชะวีรภัทร ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Gemio Shoes

ต่อยอดธุรกิจครอบครัว

อภิกษณาจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะมนุษย์ศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก่อนต่อปริญญาโทด้านการจัดการสำหรับเป็นผู้ประกอบจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เช่นเดียวกับคนทั่วไป เธอก้าวเข้าสู่ระบบการทำงานแบบมนุษย์เงินเดือนที่ MEP (Mitsubishi Engineering-Plastics) โดยเลือกทำงานด้านพลาสติก แม้ว่าเธอจะมีความสุขกับการทำงาน แต่ในใจลึกๆ เธอยังอยากกลับไปสานฝันกับธุรกิจรองเท้า ธุรกิจของครอบครัวที่เลี้ยงดูเธอมาตั้งแต่เยาว์วัย ด้วยเหตุนี้เธอจึงตัดสินใจก้าวเดินออกจากองค์กรที่เธอทำงานมากว่า 10 ปีสู่การนับหนึ่งใหม่กับธุรกิจรองเท้าภายใต้แบรนด์ Gemio Shoes โดยมุ่งมั่นที่จะพลิกแนวคิดการผลิตรองเท้าของครอบครัวพร้อมสร้างแบรนด์ใหม่ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของกลุ่มเป้าหมายหลัก

หาจุดแข็งสร้างแบรนด์ให้แกร่ง

อภิกษณาเริ่มต้นการทำงานโดยได้รับคำปรึกษาจากพี่ชายที่ดูแลธุรกิจครอบครัวมาโดยตลอด เดิมทีธุรกิจการผลิตรองเท้าของครอบครัวเน้นปริมาณการผลิตจำนวนมาก ขายเยอะๆ ราคาถูก โดยมีพ่อค้าคนกลางรับช่วงกระจายสินค้าไปตามร้านค้าปลีกทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด แต่เมื่อธุรกิจมีการแข่งขันสูง รูปแบบการกระจายผลิตภัณฑ์ผ่านพ่อค้าคนกลางก็เริ่มลดน้อยถอยลง เธอคิดว่า ถ้าเดินเครื่องตามกรอบการทำงานแบบเดิมๆก็อาจส่งผลให้ธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จ ด้วยเหตุนี้เธอจึงเริ่มต้นด้วยการศึกษากระบวนการทำงานอย่างละเอียดทั้งในเรื่องของการออกแบบ การนำวัสดุมาใช้ รวมไปถึงกระบวนการผลิตเพื่อค้นหาเอกลักษณ์ที่แตกต่าง ในที่สุดเธอค้นพบว่า กระบวนการทำรองเท้าแบบแฮนเด์เมด ตั้งแต่การทำพื้นรองเท้ายาง การตัดเย็บ การเลือกใช้วัสดุ เป็นจุดแข็งที่โดดเด่นที่ผู้ผลิตรองเท้าไม่ค่อยมี สามารถนำมาสร้างนวัตกรรมใหม่ๆได้

นวัตกรรมอบรองเท้า

เอกลักษณ์ที่โดดเด่นของ Gemio Shoes คือกระบวนการอบรองเท้าที่อภิกษณาให้คำจำกัดความว่าเหมือนการอบขนมในเตาอบ กระบวนการนี้เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตสามารถเสริมเสน่ห์สร้างลวดลายพร้อมเพิ่มคุณสมบัติให้กับรองเท้าก่อนนำไปใส่แม่พิมพ์ และเข้าเตาอบขึ้นรูปรองเท้าในขั้นตอนสุดท้าย คล้ายๆกับการทำขนมที่เราสามารถใส่ลูกเกด เพิ่มอัลมอนด์ โรยช็อคโกแลตชิพ ฯลฯ บนคุกกี้ก่อนเข้าเตาอบเช่นกัน

อภิกษณาคิดค้นนวัตกรรมการทำพื้นรองเท้ายางพารา Eco (Eco 2 Surfaces Rubber) โดยนำเศษผ้าที่หลงเหลือจากขั้นตอนการตัดเย็บรองเท้ามานวดผสมในยางพารา (แทนการใช้ยางพารา 100% เหมือนที่เคยทำมา) เธอใช้เทคโนโลยีการคงรูปยาง Vulcanization ที่ีอาศัยความร้อนกระตุ้นสารเคมีที่ผสมอยู่ในยางคอมพาวด์แล้ว เกิดปฏิกิริยาเชื่อมโยงโมเลกุลให้เป็นโครงสร้างตาข่ายสามมิติ ทำให้ยางคอมพาวด์ หรือยางดิบที่ไม่สามารถใช้งานได้ แปรสภาพเป็นยางคงรูป หรือยางสุก มีสมบัติเสถียรไม่เปลี่ยนแปลงตามอุณหภูมิ กลายเป็นเสน่ห์ของรองเท้าผ้าใบที่สร้างพื้นผิวที่แตกต่าง ส่วนผสมของเศษผ้าบนพื้นยางนอกจากจะทำให้เกิดลวดลายที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแล้ว ยังเสริมให้พื้นรองเท้ายางมีความทนทาน ไม่สึก ไม่ลื่นง่าย เรียกได้ว่าหนึ่งคู่รองเท้ามีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าเดิมมาก ทั้งนี้นวัตกรรมการทำพื้นรองเท้ายาง Eco 2 Surfaces Rubber ได้รับการอนุมัติิให้จัดแสดงในห้อง Material Connexion พร้อมจัดแสดงตัวอย่างที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC)

เสริมเอกลักษณ์ด้วยผ้าทอพื้นเมือง

นอกจากพื้นรองเท้าที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นแล้ว อภิกษณาเลือกใช้ผ้าทอพื้นเมืองจากกลุ่มชาวบ้านที่ทำงานร่วมกับศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (ศศป.) รวมไปถึงการเลือกผ้าพื้นเมืองตามท้องถิ่นต่างๆที่ผลิตโดยครูช่าง หรือช่างฝีมือการทอผ้าพื้นเมืองท้องถิ่น โดยเลือกเนื้อผ้าที่มีความคงทน และลวดลายการทอที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค 

อภิกษณา เลือกใช้ผ้าย้อมสีธรรมชาติเท่านั้นเพื่อตอกย้ำจุดยืนของแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยกรรมวิธีการอบรองเท้าแบบ Vulcanization ในกระบวนการผลิตทำให้เนื้อผ้าด้านบนเชื่อมเป็นเนื้อเดียวกับพื้นยางรองเท้า และขอบยางรอบพื้นรองเท้า จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า รองเท้า Gemio Shoes มีความทนทานมากกว่ารองเท้าที่เราพบเห็นในปัจจุบัน แตกต่างจากรองเท้าทั่วไป เช่น รองเท้าส้นสูงที่ส่วนใหญ่ใช้พื้นพลาสติก PVC หรือพื้นไม้ จากนั้นใช้กาวยางเชื่อมผิวผ้าหรือหนังด้านบน ทำให้รองเท้าพังง่าย ส้นหลุดบ่อย หรือรองเท้าผ้าใบที่ใช้กรรมวิธีการฉีดยางเข้าแม่พิมพ์ ทำให้การเชื่อมต่อระหว่างพื้นยางกับผิวผ้าใบด้านบนไม่แน่นหนาเหมือนกรรมวิธี Vulcanization ของ Gemio Shoes การนำผ้าทอจากท้องถิ่นมาใช้นอกจากจะช่วยทำให้รองเท้ามีความสวยงามอย่างมีเอกลักษณ์แล้ว ยังเป็นการสนับสนุนงานหัตถกรรมช่างฝีมือท้องถิ่น เสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชุมชน พร้อมสานต่อรูปแบบงานทอให้คงอยู่สืบทอดต่อไปด้วย

รูปแบบผลิตภัณฑ์ และเป้าหมายในอนาคต

เนื่องจาก Gemio Shoes ไม่ได้ตั้งเป้าที่จะเป็นรองเท้าแฟชั่นแบบสุดโต่ง อีกทั้งยังเป็นช่วงเริ่มต้นในการสร้างแบรนด์พัฒนาผลิตภัณฑ์ ทีมงานจึงไม่ได้ออกแบบรองเท้าตามซีซั่นเหมือนเช่นเสื้อผ้า แต่วางแผนที่จะคลอดลวดลายใหม่ๆประมาณ 3 ครั้งต่อปี ปัจจุบัน Gemio Shoes มีรองเท้า 3 รูปแบบ ได้แก่ รองเท้าผ้าทอมือทรงผู้หญิง รองเท้าผ้าใบ และรองเท้าสวมใส่สบายแบบ Slip-on ที่ไม่มีชิ้นผ้าบริเวณด้านหลัง พร้อมตอกย้ำให้เป็นแบรนด์รองเท้าเพื่อสุขภาพด้วย อภิกษณามุ่งมั่นที่จะสร้างแบรนด์ Gemio Shoes ให้เป็นที่รู้จักในระดับสากลภายในระยะเวลา 5 ปี โดยดึงเอาเอกลักษณ์ทั้งในเรื่องกระบวนการผลิต นวัตกรรมด้านวัสดุ การใช้ผ้าทอพื้นเมืองของไทย และการอบรองเท้าแบบ Vulcanization มาสร้าง “คุณค่า” และ “มูลค่า” ให้กับแบรนด์

ผสมผสานตลาดออฟไลน์ และออนไลน์

ในส่วนของช่องทางการขาย ทีมงานเลือกใช้การตลาดแบบออฟไลน์ เพื่อจับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการสัมผัสของจริง อยากทดลองสวมใส่รองเท้าก่อนการซื้อ ควบคู่ไปกับการทำตลาดบนโลกออนไลน์สำหรับลูกค้าที่นิยมการซื้อผ่านตลาดออนไลน์ ปัจจุบันแบรนด์ Gemio Shoes มีวางขายในบริเวณพื้นที่ชั้น 4 Ecotopia, Siam Discovery และออกบูธขายสินค้าตามงานอีเว้นท์ที่สอดคล้องกับทิศทางของแบรนด์ เช่น งาน Thai Fabric and Crafts Fair 2018 ที่รวบรวมสุดยอดสินค้าภูมิปัญญาไทยจากผู้ผลิตโดยตรง งาน Style 2018 ในบูธ 60+ ที่รวบรวมงานสิ่งทอเพื่อผู้สูงอายุ หรืองาน Craft Bangkok 2018 ที่เน้นผลิตภัณฑ์จากงานหัตถกรรมช่างฝีมือ เป็นต้น อภิกษณา กล่าวว่าข้อดีของการขายผ่านการออกบูธ ทำให้เธอมีโอกาสพูดคุยกับลูกค้าโดยตรง สามารถอธิบายแนวคิดของผลิตภัณฑ์ พร้อมได้รับคำแนะนำดีๆจากลูกค้า ในส่วนของตลาดออนไลน์ ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อผ่านช่องทางเว็บไซท์ และเฟสบุ๊ค กลุ่มเป้าหมายที่เข้ามาส่วนใหญ่จะนิยมซื้อของออนไลน์อยู่แล้ว รวมไปถึงลูกค้าเดิมที่ต้องการซื้อซ้ำเพราะมั่นใจในคุณภาพโดยไม่ต้องสัมผัสรองเท้าจริงก่อนการตัดสินใจอีกครั้ง

ก่อนจากกัน อภิกษณา ทิ้งท้ายไว้ว่า สิ่งที่ภูมิใจที่สุดในการทำงานคือ การได้สานต่อธุรกิจครอบครัวโดยมุ่งหวังให้ธุรกิจมีความยั่งยืน โดยดึงเอาศักยภาพสูงสุดของกระบวนการทำงานมาสร้างเอกลักษณ์ผ่านนวัตกรรมใหม่ๆที่ให้ความสำคัญกับชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม

ข้อคิดประเด็นเด็ด

– การศึกษากระบวนการผลิตขององค์กรอย่างละเอียด ช่วยให้เราเห็นช่องทางในการสร้างนวัตกรรมจากสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว
– การสร้างความแตกต่างไม่ใช่การทำสินค้าให้สวยงามเพียงมุมมองเดียว แต่คือการนำ วัสดุ กระบวนการผลิต รูปแบบการขาย ฯลฯ มาสร้าง “คุณค่า” ให้เกิดขึ้นบนผลิตภัณฑ์
– การพัฒนาสินค้าแนว Eco Product ไม่ได้ถูกตีกรอบไว้เพียงแค่สินค้าที่ผลิตภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติ หรือวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้เท่านั้น แต่รวมไปถึงทุกขั้นตอนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นการนำเศษวัสดุที่หลงเหลือจากกระบวนการผลิตกลับมาใช้ใหม่เพื่อลดปริมาณขยะ การคำนึงถึงอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ที่ทนทาน ฯลฯ
– การตลาดบนโลกออนไลน์สำหรับรองเท้า ส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อซ้ำเพราะลูกค้ามั่นใจในคุณภาพอยู่แล้ว ดังนั้นเราจำเป็นต้องมีพื้นที่วางขายแบบออฟไลน์เพื่อให้ลูกค้าได้สัมผัสสินค้าด้วย
– การออกบูธตามงานอีเว้นท์ จำเป็นต้องเลือกรูปแบบของงานที่สอดคล้องกับทิศทางของแบรนด์ เพราะนอกจากจะช่วยเสริสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์แล้ว ยังเพิ่มโอกาสให้เราพบกับกลุ่มเป้าหมายของเราด้วย

อ้างอิง

https://www.tcdcconnect.com/content/detail/31798/?m=TCDC&t=know_who